13 สิงหาคม 2549

Lang Lang - Memory


[Track 7 Piano Sonata No.3 in B minor, Op.58 - 4. Finale. Presto non tanto]


ศิลปิน : หลังหลั่ง (Lang Lang - 郎朗)
อัลบัม : Memory
วางแผง : มีนาคม 2006

เมื่อวานมีเพื่อนที่อยู่ที่อังกฤษถามว่าไปดู พร็อมส์ (เทศกาลเพลงคลาสสิกของอังกฤษ ที่เราอยากไปดูมาก แต่ไม่มีโอกาส) ไปดูอะไรดี เราก็ตอบไม่ถูก ไม่ใช่ว่าเราคิดไม่ออกนะ แต่ไม่รู้จะเลือกไปดูอันไหนดี เราก็แนะนำให้ไปดูคนดังๆ และเน้นปริมาณ ถ้ามีเวลาก็ซื้อตั๋วยืน (ตั๋วถูก) แล้วก็ไปดูเยอะๆ และก็ไปดูพวกคอนแชร์โต เพราะงานพร็อมส์มักจะมีศิลปินระดับท็อปเสมอ ถ้าถามเราว่าอยากดูเพอร์ฟอร์มานส์ของใคร เราก็คิดว่าอยากดู หลังหลั่ง มากที่สุด

ถ้าเป็นคนทั่วไปได้เห็นแล้วคงหมั่นไส้ว่านักเปียโนคนนี้แสดงอารมณ์เว่อร์ (อยากรู้ว่าเว่อร์ยังไงลองเข้าไปหาใน ยูทิวบ์ ดู) หลังหลั่งนี่เป็นศิลปินที่อยู่ในระดับท็อปสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ๆ และก็มีการตีความบทประพันธ์ออกมาหลากหลาย ที่เราว่าเก่งก็เพราะเขา "แสดง" ท่าทางเว่อร์ๆ ออกมาได้ ทั้งๆ ที่ต้องโฟกัสกับบทเพลง อัลบัมก่อนๆ ก็จะเป็นเพลงในเร็พเพอร์ทัวร์ เน้นเพลงยากๆ โชว์ฝีไม้ลายมือ (นึกถึงราคที่ รีวิว มาแล้ว ไม่ก็โชแป็งหรือลิสต์เพลงยากๆ) อัลบัมปัจจุบัน Memory เราได้ยินชื่ออัลบัมครั้งแรก ก็นึกว่า หลังหลั่งกลายเป็นศิลปินคลาสสิกแบบครอสโอเวอร์ไปแล้ว (ครอสโอเวอร์ สำหรับเพลงคลาสสิกหมายถึงเอาเพลงอื่นที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิกมาเล่นแบบคลาสสิก ที่เด่นๆ ก็เช่น โยโย่มา (หม่า โหยวโหย่ว)) แต่จริงๆ แล้วหมายถึงเพลงในความทรงจำในวัยเด็กต่อเพลงที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในวันนี้ต่างหาก ฟังดูเว่อร์อีกแล้ว แต่ก็ทำให้เข้าใจเขาได้ดีขึ้น

ดูชื่อแทร็กแรกๆ แล้วจะงงว่ามีทั้งโมสาร์ท โชแป็ง ชูมันน์ และลิสต์ในแผ่นเดียวกัน แต่ละเพลงก็เป็นคนละอารมณ์ แต่ถ้าฟังอัลบัมนี้แทบไม่เชื่อเลยว่าเพลงมันคล้อยตามกันมาอย่างดี เหมือนหลังหลั่งจูนอารมณ์ของเพลงให้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน เปียโนโซนาต้าหมายเลขสามของโชแป็งก็เป็นเวอร์ชันที่นุ่มนวล อ่อนช้อย มากกว่าที่จะขึงขัง (เพลงนี้เป็นเพลงที่มีคนตีความหลากหลายมาก) แต่ถ้าไปอ่านรีวิวในแอมะซอนก็มีคนติเยอะเหมือนกัน (คนหมั่นไส้เขาเยอะ) แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราชอบเวอร์ชันนี้พอๆ กับของอาร์เจอริชนะ ส่วนโซนาต้าของโมสาร์ทก็ออกมาโรแมนติกไปหน่อยนึง สำหรับเพลงที่ไม่ต้องเน้นเทคนิคอย่างเพลงนี้ แต่เราก็ชอบนะ (ปรกติไม่ค่อยฟังเพลงยุคคลาสสิกเท่าไหร่)

แต่ไฮไลต์ของอัลบัมนี้อยู่ที่ Kinderszenen แปลเป็นไทยว่า ความทรงจำ (ฉาก ซีน) ในวัยเด็ก ของชูมันน์ เป็นรวมฮิตเพลงเด็กๆ แบบที่ศิลปินระดับเวอร์ชัวโซไม่มีใครคิดจะเอามาเล่น เพราะมันง่ายเกิน (ไม่ได้ง่ายจนใครๆ ก็เล่นได้นะ แต่ก็ถือว่าง่ายสำหรับเวอร์ชัวโซ) ซึ่งเพลงหนึ่งใน Kinderszenen มีเพลงฮิตคือ Traumerei ซึ่งใครที่เล่นเปียโนต้องเคยผ่านตาหรือไม่ก็เคยเล่นมาบ้างแล้ว

เพลงจบเป็นเพลง encore เอาใจคนฟังที่ถามหาเพลงปราบเซียน ก็เอา Hangarian Rhapsody ของลิสต์ เวอร์ชันปราบเซียนของโฮโรวิตซ์แถมให้หนึ่งเพลง ยิ่งทำให้อัลบัมนี้จับฉ่ายเข้าไปใหญ่ สรุปก็คือ เป็นการรวมฮิตเพลงง่ายเพลงยาก เพลงคลาสสิกเพลงโรแมนติก เข้าไว้ด้วยกันให้คนฟังได้ความรู้สึกแปลกใหม่ มีคอนเซปต์ดีเหมือนกัน

เว็บไซต์ : www.langlang.com

0 ความคิดเห็น: