14 ตุลาคม 2549

Seiji Ozawa & Boston Symphony Orchestra - Orff: Carmina Burana


[Track 1 O Fortuna]
[Track 2 Fortune Plango Vulnera]
[Track 8 Chramer, Gip Die Varwe Mir]


ศิลปิน : เซอิจิ โอซาวา (Seiji Ozawa) กำกับ Boston Symphony Orchestra
อัลบัม : Carmina Burana โดย คาร์ล ออร์ฟ (Carl Orff)
วางแผง : มิถุนายน 2000

จุดประสงค์หลักที่พูดถึงคาร์มีนา บูรานา เพราะว่าอาทิตย์หน้าว่าจะไปดูคอนเสิร์ตของออสโลฟิลฯ ที่เพรวังกำกับ เป็นอะไรที่น่าสนใจดี เพราะงานแสดงที่มีวงออร์เคสตราร่วมกับนักร้องและวงประสานเสียงไม่ใช่เป็นอะไรที่หาฟังได้บ่อยๆ ไม่รู้ว่าจะว่างหรือเปล่า

คาร์มีนา บูรานาประพันธ์โดยคาร์ล ออร์ฟ นักแต่งเพลงเยอรมันยุคศตวรรษที่ 20 มีผลงานที่คนส่วนใหญ่รู้จักชิ้นเดียวก็คืองานเพลงชิ้นนี้นี่เอง (วันฮิตวอนเดอร์นั่นเอง) และเป็นเรื่องแปลกมากในสมัยนั้นเมื่อพูดถึงไอเดียในการแต่งเพลงก็คือ เอาบันทึกโบราณสมัยศตวรรษที่ 13 มาเป็นเนื้อร้อง ซึ่งเป็นภาษาละตินกับภาษาเยอรมันสูงยุคกลาง (เยอรมันสูง ก็คือเยอรมันที่พูดในที่สูงซึ่งอยู่ทางใต้ของเยอรมันรวมถึงออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน) แนวเพลงเขาก็พยายามทำให้ดูขลัง แต่ฟังง่าย การประสานเสียงของทำนองและเนื้อร้องก็เป็นแนวง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งขัดกับความนิยมในสมัยของคาร์ล ออร์ฟที่นิยมแต่งเพลงที่เรียกง่ายๆ ว่าฟังยาก เขาพยายามแต่งเพลงให้เป็นสไตล์เรอแนสซองส์หรือบาร็อก ซึ่งก็ออกมาแค่ทำนอง ส่วนแนวการประพันธ์ก็ได้รับอิทธิพลจากเพลงในยุคเดียวกันอย่างสตราวินสกี ซึ่งอันนี้เราไม่ค่อยแน่ใจ เพราะว่าจับไม่ค่อยได้เลยว่าเป็นในลักษณะไหน (เรามีงานสตราวินสกีอยู่แผ่นเดียวก็คือ เพทรุชกา ซึ่งก็เป็นอีกผลงานที่เราชอบมาก)

คาร์มีนา บูรานาเป็นเพลงคลาสสิกที่ดังมากๆ และก็มีซีดีให้เลือกหลายเวอร์ชัน แถมเป็นเพลงที่มีหนังหลายเรื่องใช้ประกอบ ก็คือ O Fortuna เพลงแรกจากผลงานนี้ และนักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ใช้เพลงนี้เป็นแบบอย่างในการแต่งประกอบหนังแนวสงครามแฟนตาซี พอพูดถึงหนังที่เอาเพลงนี้มาประกอบก็จะอ๋อเหมือนกัน หนังเรื่องนั้นก็คือ เอ็กซ์คาลิเบอร์ ตอนเด็กๆ หลายคนคงได้ดู เพราะเป็นหนังที่คลาสสิกพอๆ กับ อีที เลยทีเดียว

เวอร์ชันที่มาเป็นตัวอย่างคราวนี้เป็นของเซอิจิ โอซาวา กำกับวงที่เรียกได้ว่าเป็นลูกรักก็คือ Boston Symphony Orchestra (BSO เป็นตัวย่อที่คนทั่วไปรู้ว่าเป็นวงจากบอสตัน ไม่ใช่จากกรุงเทพฯ หรือบัลติมอร์) เป็นที่รู้จักกันดีในวงการเพลงคลาสสิกเพราะว่ามีซีดีผลงานของวงภายใต้การกำกับของเซอิจิ โอซาวาเยอะมาก เวลาซื้อซีดี ถ้าเห็นชื่อนี้ก็อุ่นใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อของคุณภาพต่ำมาแน่นอน

ที่ให้ลองฟังก็คือบทแรก (บทที่ฮิตที่สุด) บทที่สองที่ฟังดูเมดีวัลมากๆ และก็บทที่แปดที่เป็นภาษาเยอรมันสูงยุคกลาง เมโลดีเป็นส่วนสำคัญที่สุดของคาร์มีนา บูรานา และจุดเด่นก็คือจังหวะที่สลับช้าสลับเร็วภายในบทเดียวกัน (ชัดเจนในตัวอย่างบทที่แปด)

เว็บไซต์ : เซอิจิ โอซาวา, www.bso.org, เนื้อร้อง

ความคิดเห็น:

pradt กล่าวว่า...
19/10/49 08:32
 

ผมเคยฟังอยู่สองแผ่น ของ André Previn กับของ Seiji Ozawa ที่คุมวง Berliner Philharmoniker และแทร็ค2 เป็นแทร็คที่ชอบฟังบ่อยที่สุึดครับ