28 ธันวาคม 2551

Karl Hector + The Malcouns - Sahara Swing



ศิลปิน : Karl Hector + The Malcouns
อัลบัม : Sahara Swing
วางแผง : กรกฎาคม 2008

เดี๋ยวนี้ฟังเพลงน้อยลงมาก ทำให้ช่วงหลังๆ เวลาคุยกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพลงไทยนี่ไม่ฟังเลย เพลงสากลก็เลิกฟังเหมือนกัน เพลงคลาสสิกก็ฟังน้อยลง เพราะไม่มีทั้งเวลา ไม่มีทรัพย์ซื้อ ไม่มีอินเตอร์เนต (เอาไว้โหลดของเถื่อน) ไม่มีแหล่ง (ร้านซีดีเมืองไทยนี่โลกแคบมาก) ตอนนี้มีอินเตอร์เนตแล้ว เลยหาแนวที่ฟังแล้วไม่เบื่อ ตอนนี้เลยหันไปหาฟังเพลงแจ๊สที่ชอบดีกว่า หลังจากบ้าเพลงแจ๊สตำนานอยู่ระยะหนึ่ง เลยคิดมาหาแนวที่ฟังแล้วจรรโลงดีกว่า หลังจากที่ไปชุบตัวอยู่นอรเวย์มาระยะหนึ่ง ก็เลยหันมาเอาดีทางด้านการฟังแนวฟังก์ที่อินเทรนด์แถวๆ ยุโรป เริ่มจากเพื่อนชวนไปเที่ยวผับชื่อ Soul Experience แล้วติดจิต กอปรกับชอบฟังเพลงแจ๊สเป็นทุนเดิม เพลงฟังค์นี่แหละเหมาะสุด ไม่ขอขุดไปฟังอะไรเก่าๆ แต่จะยืดศิลปินร่วมสมัยเป็นสรณะ (เรียนรู้จากการที่ไปดูคอนเสิร์ต เพราะพวกนี้ยังแอกทีฟอยู่ ตะลอนไปเล่นคอนเสิร์ตตามเมืองต่างๆ เป็นระยะๆ)

ไม่กล้ารีวิวอะไรมาก เพลงแนวนี้ยังใหม่สำหรับเรา แต่ฟังแล้วแอ็ดดิกต์มาก หน้าปกสวยสุดๆ เสียอย่างเดียว ตอนนี้ยังไม่มีเป็นเจ้าของ อยากซื้อซีดีนี้อะ ไม่รู้ซื้อที่ไหนดี (ความจริงยังไม่ได้ไปดูตามร้านเลยนะเนี่ย แต่เดี๋ยวนี้เขายังมีร้านซีดีอยู่หรือเปล่าเนี่ย) อ้อ ตอนนี้เพลงในโพสต์เก่าๆ ฟังไม่ได้แล้วอะ เพราะโฮสต์ที่เก็บเพลงมันเจ๊ง คิดว่าคงไม่โหลดใหม่แล้วอะ ขี้เกียจ


เว็บไซต์ : MySpace

[+/-] Read More...

04 สิงหาคม 2550

Philippe Jaroussky & Jean-Christophe Spinosi - Vivaldi Heroes


[Track 2 Vedro Con Moi Diletto]


ศิลปิน : ฟิลิปป์ จารุสสกี (Philippe Jaroussky) และ ช็อง-คริสตอฟ สปิโนซี (Jean-Christophe Spinosi) กำกับวง อ็องซ็องเบลอ มาเทอุส (Emsemble Matheus)
อัลบัม : Vivaldi Heroes
วางแผง : มกราคม 2007

เกริ่นถึง อุปรากรยุคบาโร็กใน บล็อกตัวเอง เพราะว่าได้ฟังอัลบัมนี้แล้วโดนใจอย่างแรง เมื่อก่อนเวลาคิดถึงนักร้องชายเคานเตอร์เทเนอร์ (สูงกว่าเทเนอร์) ก็จะนึกถึงแค่ อันเดรียส ชอล (Andreas Scholl) แต่ตอนนี้ที่มาแรงสุดๆ ก็คือ ฟิลิปป์ จารุสสกี คนนี้

ถ้าหากฟังชอล (หาฟังได้ทั่วไปตาม ยูทิวบ์) บ่อยๆ ก็จะรู้สึกทึ่งว่าเคานเตอร์เทเนอร์ร้องได้ทรงพลังพอๆ กับนักร้องหญิง เสียงของชอลอยู่ในช่วงอัลโต (ต่ำสุดของผู้หญิง) แต่พอมาฟังฟิลิปป์ จารุสสกี ให้อารมณ์อีกแนวไปเลยเพราะช่วงเสียงสูงจากเมสโซ ถึงโซปราโน ต่างตรงที่ว่าเสียงแน่นสู้ชอลไม่ได้ แต่จะให้แน่นเหมือนชอลก็คงยาก ถ้ายากฟังแน่นๆ ก็ไปฟังเมสโซ หรือโซปราโนแท้ๆ ดีกว่า

จุดเด่นของอัลบัมนี้ก็คือเป็นอัลบัมรวมอารีอาจากอุปรากรบาโร็กของวิวาลดิ หลายบทเพลงเป็นเพลงสำหรับคาสตราโต (อย่างเซเนสิโนหรือฟาริเนลลี)

จุดขายหลักของจารุสสกีก็คือโคโลราทูรา (coloratura) ซึ่งฟังแล้วพูดได้คำเดียวว่าทึ่ง ยิ่งเพลงเร็วๆ แล้วนี่เก็บทุกโน้ต ไม่หลุด นอกจากนี้ที่เห็นว่าเด่นก็คือการลงหนักเบาของเสียงก็สุดยอด ดีกว่านักร้องโซปราโนหลายๆ คนอีก การควบคุมเสียงนี่ระดับสุดยอด เจอโน้ตเปียนิสสิโมลากยาวแล้วเป็นสายสม่ำเสมอเยอะมาก (ลองจินตนาการถึงขนมตังเมที่ลากเป็นเส้นบางและยาวมากแล้วไม่ขาด) ฟังแล้วเพลินดี

แค่ฟังเพลงแรกในอัลบัมแล้วก็ขนลุกหลังจากเจอโคโลราทูราแบบน้ำไหลไฟดับ แล้วจบด้วยคาเดนซาอลังการ บางแทร็กเป็นรีไซเททีฟเพื่อลากเข้าอารีอาเป็นเหมือนกับบทนำของเพลง ส่วนความดีความชอบของอัลบัมนี้นอกจากตัวฟิลิปป์ จารุสสกีเองแล้ว คงต้องมอบให้กับวงที่เล่นประกอบ อ็องซ็องเบลอ มาเทอุส ของ ช็อง-คริสตอฟ สปิโนซี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญกับเพลงของวิวาลดีเป็นพิเศษ วงเขาดีจริงๆ

เว็บไซต์ : www.jarousskyvivaldi.com

[+/-] Read More...

01 สิงหาคม 2550

Rufus Wainwright - Release The Stars


[Track 6 Rules and Regulations]
[Track 9 Tulsa]



ศิลปิน : รูฟัส เวนไรต์ (Rufus Wainwright)
อัลบัม : Release The Stars
วางแผง : พฤษภาคม 2007

เพิ่งไปดูคอนเสิร์ตรูฟัสมา ขอบอกว่าดีมากๆ ยิ่งพอไปดูคอนเสิร์ตแล้วยิ่งชอบใหญ่ สไตล์ก็ยังเป็นสไตล์เดิมๆ เสียงร้องเต็มเสียง ดนตรีโหยหวน มีองค์ประกอบของเพลงคลาสสิกเยอะ อัลบัมนี้ท่าจะเยอะกว่าเดิมอีก เครื่องดนตรีหลักก็ยังเป็นเปียโนเหมือนเดิม แต่มีการประโคมเครื่องเป่าเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากคอนเสิร์ตที่มีนักดนตรีเพ่ิมมาสามคนเป็นแซกโซโฟน/ฟลุต ทรัมเปต และฮอร์น

ดนตรีได้รับอิทธิพลจากเพลงคลาสสิกอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในเพลง Between My Legs มีการคัดเอาท่อนโหมโรงของ The Phantom of the Opera มาใส่ตอนจบอีก ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับเพลงค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับสถานที่หลายๆ ที่ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป Tiergarten (แปลตรงๆ ว่าสวนสัตว์) ในเยอรมัน Sanssouci เป็นพระราชวังในเยอรมันเช่นกัน Leaving for Paris ก็ฝรั่งเศส ที่มีเยอรมันเยอะ เพราะว่ารูฟัสมาอยู่กับแฟนที่ทำงานเป็นผู้จัดการคอนเสิร์ตให้กับ Berlin State Opera แต่ก็มีเพลงเกี่ยวกับอเมริกาคือ Tulsa ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นเมืองนี้ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่แปลกมาก และก็ Going to a Town ซึ่งส่อเป็นนัยๆ เกี่ยวกับทัศนคติของคนอเมริกันและประเทศ

สำหรับคนที่เฉยๆ กับรูฟัสก็จะรู้สึกว่าเพลงเหมือนเดิม ฟังทั้งอัลบัมเหมือนกันหมด แต่ถ้าหากฟังดีๆ จะพบว่ารูฟัสแต่งเพลงใส่องค์ประกอบแบบเก็บเล็กผสมน้อย มีทั้งเพลงคลาสสิก เพลงจากละครเวที คือไอเดียกระฉูดจริงๆ อย่างการใช้เครื่องสายนอกจากมีการเล่นเดียว เล่นประสานยังมีเล่นแบบพิซซิกาโตด้วย อาร์เพจโจ (arpeggio) ของเปียโนในเพลงอย่าง Tulsa นี่เจ๋งมาก (คล้ายๆ กับ The Art Teacher ในอัลบัม Want Two) เราได้ดูการแสดงสดทั้งสองเพลง โดยรูฟัสร้องและเล่นเปียโน ประทับใจมาก

เว็บไซต์ : www.rufuswainwright.com

[+/-] Read More...

20 เมษายน 2550

Fedde le Grand - Put Your Hands Up For Detroit




ศิลปิน : เฟดเดอ เลอ กรองด์ (Fedde le Grand)
ซิงเกิล : Put Your Hands Up For Detroit
วางแผง : สิงหาคม 2006

ไม่ได้เขียนอะไรลงบล็อกขนุนตั้งนาน เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ไม่อยากให้บล็อกร้าง

ช่วงนี้ไปเที่ยวกลางคืนบ่อยมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันสิ้นเปลืองมากๆ แต่ก็ยังไปเพราะว่าสนุก เลยถือโอกาสแนะนำเพลงที่ได้ยินมาพักใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันก็ยังดังอยู่

ไม่แปลกอะไรที่อยู่ๆ ดีเจโนเนมจะดังเปรี้ยงชั่วข้ามคืน เพราะเพลงฮิตเพลงเดียว แต่ตอนนี้เฟดเดอ เลอ กร็องด์ เป็นดีเจที่เราชอบมากทีเดียว พอดังแล้วก็เริ่มขยายผล เริ่มมีแผ่นมิกส์เป็นของตัวเอง เริ่มออกทัวร์ดีเจตามผับดังๆ คิดว่าอีกหน่อยคงเป็นดีเจรับเชิญออกอัลบัมคอลเลกชันต่างๆ

พูดถึงเพลงนี้ดีกว่า เราเองไม่ใช่แฟนเพลงเฮาส์ จะฟังก็ต่อเมื่อไปเที่ยวเท่านั้น ห้ามชวนเราไปฮิปฮอปเด็ดขาด มันน่าเบื่อ ยกเว้นว่ามีดีเจเจ๋งๆ ที่ไม่เปิดเพลงฮิตมากเกินไป แต่ถ้าไปเต้นแล้ว ขอเป็นเฮาส์ดีกว่า เต้นมันกว่าเยอะ

เราเองประทับใจเพลงนี้ตรงดนตรีมันมากๆ แต่ไม่ค่อยประทับใจตรงตัวเนื้อร้องเท่าไหร่ ครั้งแรกที่ฟังเป็นเวอร์ชันที่ไม่มีเสียงร้อง พอฟังแล้วรู้สึกเลยว่าติดหูและเก๋สุดๆ

จะบอกว่ากว่าจะรู้ว่าเพลงนี้ชื่ออะไร ก็ต้องไปหาฟังจากวิทยุ แล้วก็ถึงได้อ๋อจากเนื้อร้อง เพราะตัวเพลง ดีเจ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับดีทรอยต์สักนิด แค่คิดประโยคเก๋ๆ ใส่ลงไปในเพลงเท่านั้นเอง

เว็บไซต์ : www.feddelegrand.com, MySpace

[+/-] Read More...

20 ตุลาคม 2549

Vienna Philharmonic Orchestra & Carlos Kleiber - Beethoven: Symphonies Nos. 5 & 7


[Track 1 Symphony No. 5 In C Minor, Op. 67 - 1. Allegro con brio]
[Track 6 Symphony No. 7 In A Major, Op. 92 - 2. Allegretto]


ศิลปิน : เวียนนา ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา กำกับโดย คาร์โลส ไคลเบอร์ (Carlos Kleiber)
อัลบัม : Beethoven : Symponies Nos. 5 & 7
วางแผง : 1975, รีมาสเตอร์ 1996

พูดถึงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของบีโทเฟน น้อยคนจะไม่รู้จัก เราเกิดอยากเขียนขึ้นมา เพราะอยู่ๆ ก็ขุดเอามาฟังเล่นๆ เราไม่ใช่แฟนเพลงบีโทเฟนอะไร เพราะช่วงนี้บ้าฟังไม่เพลงของนักประพันธ์รัสเซียศตวรรษที่ 20 ก็เพลงฝรั่งเศสยุคอิมเพรสชันนิสม์

เรามาค้นพบมูฟเมนต์หนึ่งในซิมโฟนีของบีโทเฟนที่เราตามหาสมัยก่อน จำได้ว่ามีโฆษณาอยู่ชิ้นหนึ่งที่ฉายในโทรทัศน์ไทยนานมาแล้วมีเพลงบรรเลงที่เราค้นพบว่าเป็นของบีโทเฟน แต่เราจำไม่ได้ว่าชื่ออะไรหรือเป็นส่วนหนึ่งของงานประพันธ์ชิ้นใด เพิ่งมาค้นพบไม่นานมานี้เอง รู้สึกว่าจะประกอบหนังด้วยมั้ง (อันนี้ไม่แน่ใจ ต้องไปหาข้อมูลอีกที)

พูดถึงซิมโฟนีหมายเลข 5 แล้ว ไม่ใช่เบอร์ที่เราชอบที่สุด ถ้าพูดถึงความชอบคิดว่าน่าจะเป็นเบอร์ 6 เพราะฟังบ่อย ที่ชอบเพราะมันไม่ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนซิมโฟนีของบีโทเฟนเบอร์อื่นๆ (โดยเฉพาะเลขคี่ เป็นสูตรเผื่อใครต้องเอาไปสอบ)

ไหนๆ ก็ให้สูตรแล้ว ก็มาต่อด้วยชื่อเล่น ที่รู้จักกันทั่วไปก็มีเบอร์ 3 ว่า Eroica เบอร์ 6 ว่า Pastoral เบอร์ 9 ว่า Choral (อันที่ 3 หรือ Eroica บีโทเฟนเรียกเอง เพราะตอนแต่งคิดว่าจะอุทิศให้นะโปเลียน แต่ตอนแรกเปลี่ยนใจเพราะไม่ชอบที่นะโปเลียนปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ) ส่วนเบอร์ 5 เราเคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นตอนเด็กๆ ว่าเขาเรียกว่า Fate หรือชะตาชีวิต แต่อันนี้ไม่แพร่หลายเท่าไหร่ ที่เรียกว่าชะตา เพราะมาจากโมทีฟของเพลง (แท้น แท้น แท้น แถ่น) ว่าเปรียบเสมือนชะตาชีวิตมาเคาะประตูหน้าบ้าน (คิดได้ไงเนี่ย)

ซีดีแผ่นนี้คงไม่ต้องรีวิวมาก คีย์เวิร์ด (อีกแล้ว) อยู่ตรง Wiener Philharmoniker (เวียนนา ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา จะมาแสดงคอนเสิร์ตที่ออสโล แต่สู้ราคาบัตรไม่ไหว) อันนี้โหลดจากในอินเตอร์เนต ความจริงที่บ้านมีซิมโฟนีของบีโทเฟนทั้งเซตของเบิร์นสไตน์กับฟอนคารายานที่ก๊อปมาจากที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย สมัยที่เพิ่งมีโนตบุ๊กที่มีซีดีไรเตอร์ใหม่ๆ ไม่ได้หยิบมาฟังนานแล้ว เพราะว่าห่างหายจากเพลงบีโทเฟนมานาน ส่วนเรื่องวิจารณ์ ของดออกเสียง เพราะไม่เชี่ยวชาญทั้งบีโทเฟน และเพลงบรรเลงขนาดใหญ่

แทร็กที่ให้ฟังก็มีมูฟเมนต์แรกของเบอร์ 5 และก็มูฟเมนต์ที่สองของเบอร์ 7

เว็บไซต์ : คาร์โลส ไคลเบอร์, www.wienerphilharmoniker.at

[+/-] Read More...

14 ตุลาคม 2549

Seiji Ozawa & Boston Symphony Orchestra - Orff: Carmina Burana


[Track 1 O Fortuna]
[Track 2 Fortune Plango Vulnera]
[Track 8 Chramer, Gip Die Varwe Mir]


ศิลปิน : เซอิจิ โอซาวา (Seiji Ozawa) กำกับ Boston Symphony Orchestra
อัลบัม : Carmina Burana โดย คาร์ล ออร์ฟ (Carl Orff)
วางแผง : มิถุนายน 2000

จุดประสงค์หลักที่พูดถึงคาร์มีนา บูรานา เพราะว่าอาทิตย์หน้าว่าจะไปดูคอนเสิร์ตของออสโลฟิลฯ ที่เพรวังกำกับ เป็นอะไรที่น่าสนใจดี เพราะงานแสดงที่มีวงออร์เคสตราร่วมกับนักร้องและวงประสานเสียงไม่ใช่เป็นอะไรที่หาฟังได้บ่อยๆ ไม่รู้ว่าจะว่างหรือเปล่า

คาร์มีนา บูรานาประพันธ์โดยคาร์ล ออร์ฟ นักแต่งเพลงเยอรมันยุคศตวรรษที่ 20 มีผลงานที่คนส่วนใหญ่รู้จักชิ้นเดียวก็คืองานเพลงชิ้นนี้นี่เอง (วันฮิตวอนเดอร์นั่นเอง) และเป็นเรื่องแปลกมากในสมัยนั้นเมื่อพูดถึงไอเดียในการแต่งเพลงก็คือ เอาบันทึกโบราณสมัยศตวรรษที่ 13 มาเป็นเนื้อร้อง ซึ่งเป็นภาษาละตินกับภาษาเยอรมันสูงยุคกลาง (เยอรมันสูง ก็คือเยอรมันที่พูดในที่สูงซึ่งอยู่ทางใต้ของเยอรมันรวมถึงออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน) แนวเพลงเขาก็พยายามทำให้ดูขลัง แต่ฟังง่าย การประสานเสียงของทำนองและเนื้อร้องก็เป็นแนวง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งขัดกับความนิยมในสมัยของคาร์ล ออร์ฟที่นิยมแต่งเพลงที่เรียกง่ายๆ ว่าฟังยาก เขาพยายามแต่งเพลงให้เป็นสไตล์เรอแนสซองส์หรือบาร็อก ซึ่งก็ออกมาแค่ทำนอง ส่วนแนวการประพันธ์ก็ได้รับอิทธิพลจากเพลงในยุคเดียวกันอย่างสตราวินสกี ซึ่งอันนี้เราไม่ค่อยแน่ใจ เพราะว่าจับไม่ค่อยได้เลยว่าเป็นในลักษณะไหน (เรามีงานสตราวินสกีอยู่แผ่นเดียวก็คือ เพทรุชกา ซึ่งก็เป็นอีกผลงานที่เราชอบมาก)

คาร์มีนา บูรานาเป็นเพลงคลาสสิกที่ดังมากๆ และก็มีซีดีให้เลือกหลายเวอร์ชัน แถมเป็นเพลงที่มีหนังหลายเรื่องใช้ประกอบ ก็คือ O Fortuna เพลงแรกจากผลงานนี้ และนักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ใช้เพลงนี้เป็นแบบอย่างในการแต่งประกอบหนังแนวสงครามแฟนตาซี พอพูดถึงหนังที่เอาเพลงนี้มาประกอบก็จะอ๋อเหมือนกัน หนังเรื่องนั้นก็คือ เอ็กซ์คาลิเบอร์ ตอนเด็กๆ หลายคนคงได้ดู เพราะเป็นหนังที่คลาสสิกพอๆ กับ อีที เลยทีเดียว

เวอร์ชันที่มาเป็นตัวอย่างคราวนี้เป็นของเซอิจิ โอซาวา กำกับวงที่เรียกได้ว่าเป็นลูกรักก็คือ Boston Symphony Orchestra (BSO เป็นตัวย่อที่คนทั่วไปรู้ว่าเป็นวงจากบอสตัน ไม่ใช่จากกรุงเทพฯ หรือบัลติมอร์) เป็นที่รู้จักกันดีในวงการเพลงคลาสสิกเพราะว่ามีซีดีผลงานของวงภายใต้การกำกับของเซอิจิ โอซาวาเยอะมาก เวลาซื้อซีดี ถ้าเห็นชื่อนี้ก็อุ่นใจ ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อของคุณภาพต่ำมาแน่นอน

ที่ให้ลองฟังก็คือบทแรก (บทที่ฮิตที่สุด) บทที่สองที่ฟังดูเมดีวัลมากๆ และก็บทที่แปดที่เป็นภาษาเยอรมันสูงยุคกลาง เมโลดีเป็นส่วนสำคัญที่สุดของคาร์มีนา บูรานา และจุดเด่นก็คือจังหวะที่สลับช้าสลับเร็วภายในบทเดียวกัน (ชัดเจนในตัวอย่างบทที่แปด)

เว็บไซต์ : เซอิจิ โอซาวา, www.bso.org, เนื้อร้อง

[+/-] Read More...

10 ตุลาคม 2549

Robin Thicke - The Evolution of Robin Thicke


[Track 14 2 The Sky]


ศิลปิน : โรบิน ทิก (Robin Thicke)
อัลบัม : The Evolution of Robin Thicke
วางแผง : ตุลาคม 2006

ในที่สุด Robin Thicke ก็ออกอัลบัมเต็มมาจนได้ หลังจากที่รอมาหลายเดือน เราก็จัดแจงโหลดมาลองฟัง (หาซื้อไม่ได้อะ และมันแพงด้วย) ปรากฏว่ามีอะไรน่าสนใจเยอะเลย ตอนแรกเรานึกว่าเป็นนักร้องใหม่ แต่ลองเข้าไปกูเกิลดูแล้วปรากฏว่าอยู่ในวงการมานานแล้วเหมือนกัน แต่ในฐานะนักแต่งเพลง และก็เคยออกอัลบัมนึงแล้ว อัลบัมนี้จึงเป็นอัลบัมที่สอง แนวเพลงก็เป็นโซล อาร์แอนด์บี บัลลาด และก็มีเพลงเร็วๆ เป็นเพลงเติมจนเต็มอัลบัม แนวดนตรีค่อนข้างจะหลากหลายกว่าศิลปินบัลลาดอื่นๆ ก็คือ นอกจากมีอะคูสติกแล้ว ยังมีแนวฟังก์ อาร์แอนด์บี บอสซาโนวา และยังมีละตินด้วย ทำให้อัลบัมนี้หลากหลายมากขึ้น

แต่ข้อเสียของความหลากหลายก็คือมันทำให้อัลบัมไม่ค่อยมีคอนเซปต์เท่าไหร่ ชื่ออัลบัมคือ The Evolution of Robin Thicke แต่เราก็ไม่เข้าใจเลยว่ามันวิวัฒนาการอย่างไร เราหาคอนเซปต์ไม่เจอ ส่วนการจัดลำดับเพลง เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน เพราะว่ามันเหมือนกับสุ่มๆ เอา ฟังเพลงช้าๆ เพราะๆ อยู่ดีๆ จังหวะก็มากระชากเป็นเพลงเร็ว บางเพลงก็ไม่คิดว่ามันจะจัดมารวมในอัลบัมได้ อย่างเพลงที่ชื่อ Shooter เราฟังแล้วแอบตกใจเหมือนกัน เพราะว่ามันออกมาเป็น มิสซี เอเลียต หรือ คริสตินา อะกีเลรา อัลบัมล่าสุดมากๆ แต่ไฮไลต์ที่เราประทับใจก็คือสามแทร็กสุดท้าย ที่เป็นบัลลาดหวานซึ้ง โดยที่แทร็กท้ายสุดนี่มีสองเพลง คือเป็นจังหวะบรรเลงของเพลง 2 The Sky (เพลงแรกในสามแทร็กสุดท้าย) ซ้อนอยู่หลังเพลงสุดท้ายจบ

ถึงแม้ว่าคนชอบเอาโรบิน ทิก ไปเปรียบกับ เรมี แชนด์ ถ้าไปเปรียบเทียบทางด้านการร้องคงไม่ติดฝุ่น (เรมี แชนด์ นี่เสียงพระเจ้ามากๆ จำได้ว่าตอนดูมิวสิกเพลงของเรมี แชนด์ครั้งแรก แล้วอยากจะร้องไห้ คนอะไรเสียงฟัลเซตโตได้อารมณ์สุดๆ) แต่ต้องอย่าลืมว่าโรบิน ทิกนี่เป็นนักแต่งเพลงที่ผันตัวเองมาเป็นนักร้อง ฝีมือการแต่งเพลงนี่ไม่เป็นรองใครแน่นอน การันตีได้เลยว่าต้องได้ยินซาวนด์ใหม่ๆ จากอัลบัมนี้แบบที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อนแน่ แต่โรบิน ทิกมีดีอีกอย่างตรงที่หน้าตาดี และมีความสามารถเป็นจุดขาย แค่นี้ก็คงดังได้ไม่ยาก

เว็บไซต์ : www.robinthicke.com, รีวิว ใน allmusic

[+/-] Read More...

22 กันยายน 2549

Scissor Sisters - I Don't Feel Like Dancin'




ศิลปิน : Scissor Sisters
ซิงเกิล : I Don't Feel Like Dancin'
วางแผง : กันยายน 2006

แนะนำเพลงเริ่ดๆ บ้างดีกว่า วง Scissor Sisters ออกอัลบัมใหม่ พร้อมเพลงใหม่ที่เก๋สุดๆ I Don't Feel Like Dancin' วงดนตรีเกย์ (เกย์จริงๆ ไม่ใช่หลอกๆ แบบ T.A.T.u.) ชื่อวงมาจากท่าการร่วมเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง ไม่มีอะไรจะแรงและดังเท่าวงนี้อีกแล้วในตอนนี้ โดยเฉพาะที่ยุโรป ทั้งในซีนและนอกซีน (ซีน หมายถึงสถานที่ที่เกย์ชอบไปรวมตัวกันอย่างคับคั่ง)

อัลบัมนี้เพื่อนของเพื่อนเพิ่งไปซื้อมา (เพิ่งออกสดๆ ร้อนๆ) และก็แนะนำให้ฟัง เราไม่กะรีวิวอัลบัม เพราะยังไม่ได้ฟังเลย (ต้องไปยืมเพื่อนก่อน) แต่ขอพูดถึงเพลงนี้ก่อน เพลงนี้ร่วมแต่งโดยเอลตัน จอห์น เป็นเพลงแนวดิสโก้ที่เก๋มาก ตอนนี้ขึ้นอันดับหนึ่งเรียบร้อยแล้วที่อังกฤษ (คิดว่าที่นอรเวย์ด้วย เพราะฮิตเหลือเกิน ฟังแทบทุกวันทางวิทยุเลย) อันนี้แสดงให้เห็นรสนิยมที่แตกต่างกันระหว่างอเมริกาและยุโรป เพราะวงนี้มาจากอเมริกา แต่กลับดังในยุโรป คนยุโรปค่อนข้างใจกว้างกับเรื่องพวกนี้รักร่วมเพศมากกว่า (มั้ง) และเพลงนี้เป็นเพลงแนวเต้นรำ ดิสโก้ก็เป็นอะไรที่ไม่มีทางไม่ดังแถวนี้ ยิ่งนักร้องหน้าตาดีด้วย มาตรฐานยุโรปจริงๆ อันนี้ยืนยันทั้งจากเพื่อนที่เมืองไทย (ตุ้ย) และเพื่อนแถวๆ นี้

เราเองชอบเพลงแนวนี้นะ มิวสิกวิดีโอ (ดูทาง ยูทิวบ์ เพราะมันใหม่เกิน) ก็เก๋ แนวเพลงเป็นแนวที่ตลาดกำลังขาดพอดี (ในความคิดของเรา) ฟังแล้วคิดถึงเพลงยุค 70 และ 80 อย่าง เอลตัน จอห์น (เพลงเก่าๆ เราชอบมากๆ เลย เพิ่งมาฟังเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วในอัลบัมรวมฮิต) บีจีส์ ควีน ไม่ใช่แค่เมืองไทยที่กลับมาฮิตเพลงเก่า ที่นี่ก็มีบางบาร์ที่เน้นเปิดแต่เพลงเรโทรเหมือนกัน

เพลงนี้มีเปียโนใสๆ โดยเอลตัน จอห์น แต่ทำไมอินโทรถึงมีจังหวะเหมือนเพลง Love Generation ของบ็อบ ซังแคลร์เลย แต่มันไม่ได้เหมือนเสียทีเดียว แค่มันคุ้นๆ เพราะเวลาขึ้นอินโทรมา เข้าใจผิดว่าเป็นเพลงนี้อยู่เรื่อย ตอนนี้คุ้นและจำได้แล้วแหละ

ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวมาเมื่อคืน คงไม่มีความคิดที่จะพูดถึงเพลงนี้หรอก แต่เพลงนี้ฟังเวลาไปเที่ยวแล้วมันจริงๆ

เว็บไซต์ : www.scissorsisters.com

[+/-] Read More...

12 กันยายน 2549

Justin Timberlake Feat. Timbaland - SexyBack




ศิลปิน : จัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) ฟีเจอร์กับ ทิมบาแลนด์ (Timbaland)
ซิงเกิล : SexyBack
วางแผง : กรกฎาคม 2006

ไม่น่าเชื่อว่าซิงเกิลนี้จะขึ้นอันดับหนึ่ง เพราะปรกติแล้วเพลงจัสติน ทิมเบอร์เลก ดังจริง แต่ไม่เคยขึ้นอันดับสูงเลย แนวเพลงมันไม่ค่อยตามตลาด แต่ตรงตลาดสุดๆ งานนี้คงยกความดีความชอบให้ทิมบาแลนด์ ที่เป็นโปรดิวเซอร์และก็ฟีเจอร์ในเพลงด้วย

เพลงนี้เป็นสูตรสำเร็จสุดๆ ก็คือ นักร้องที่ดังมาก่อน แล้วก็เปิดตัวอัลบัมใหม่ และก็โปรดิวเซอร์ที่ดัง ทำเพลงไหนก็ดังไปหมด และที่สำคัญต้องเป็นเพลงที่ล้ำหน้า ไม่ใช่ตามกระแส เพลงไหนดัง ก็ทำแนวนั้น ตอนนี้ทิมบาแลนด์เป็นโปรดิวเซอร์มือทอง ทำเพลงให้นักร้องคนไหนก็ดัง ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับเจอร์เมน ดูปรี (อัชเชอร์ มารายห์ แครีย์) ฟาเรล (I'm a Slave 4 You ของบริทนีย์ สเปียร์ Hot in Herre ของเนลลี ฯลฯ เยอะจนจำไม่ได้) แต่โปรดิวเซอร์พวกนี้พอทำออกมาสองสามเพลงความนิยมก็จะเริ่มซาลงจนกว่าจะเกิดแนวใหม่ขึ้นมาอีกแล้วก็ดังอีก ดังนั้นโปรดิวเซอร์ก็ไม่ได้ไปไหน เพียงแต่รอเวลาเพลงจะดังขึ้นมาเท่านั้นเอง

เราไม่รู้จะวิเคราะห์เพลงนี้ไปทำไม เพลงนี้ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระเท่าไหร่ (เป็นจุดสำคัญ ถ้าแต่งเพลงออกมาดีเลิศ มักจะไม่ดัง) แต่จังหวะเป็นอะไรที่ชอบสุดๆ เพลงป๊อปสมัยนี้ต่อให้ศิลปินเสียงดีแค่ไหน ถ้าดนตรีห่วยก็ไม่ดัง แต่ถ้าดนตรีล้ำสมัยแล้ว เพลงก็ยัง "ดูดี" กว่าเพลงคลาสสิก แจ๊ส หรือดีว่าดังๆ เสียอีก (อันนี้เรื่องจริง เวลาเราอยู่กับเพื่อนเที่ยวๆ หรือคนรู้จัก ไม่ค่อยเปิดเผยว่าเราฟังแจ๊สหรือคลาสสิก เพราะมันดูดีไม่เท่ากับบอกว่าชอบเพลงนู้นเพลงนี้ที่กำลังดังที่คลับนั้นคลับนี้)



เราอ่านในเนต เขาบอกว่าคนชอบเพลง My Love ที่จะเป็นซิงเกิลต่อไปมากกว่าเพลง SexyBack เราก็เลยลองไปฟัง แล้วก็จริง ชอบมากๆ รู้สึกว่าเจ๋งกว่า SexyBack เยอะ คงต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นยังไง

เว็บไซต์ : www.justintimberlake.com, www.timandmagoo.com

[+/-] Read More...

07 กันยายน 2549

Christina Aguilera - Back To Basics


[Disc 1 Track 3 Back In The Day]


ศิลปิน : คริสตินา อากีเลรา
อัลบัม : Back To Basics
วางแผง : สิงหาคม 2006

เพิ่งได้ฟังคริสตินา อากีเลรา (ของชาวบ้าน ไม่ได้ซื้อเอง แต่เซฟไว้ในเครื่องตัวเองเรียบร้อยแล้ว) ก็เกิดอาการคันอยากเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับอัลบัมนี้ให้คนอื่นฟัง ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไงกัน

โดยรวมก็ชอบนะ อย่างน้อยก็มีสไตล์มีคอนเซปต์ พูดถึงคอนเซปต์ เราคาดหวังจะได้ฟังคริสตินาในสไตล์คลาสสิก เพราะเราได้ข่าวลือตั้งแต่ก่อนที่เธอจะไปร้องเพลงกับเฮอร์บี แฮนค็อก (สุดยอดศิลปินเปียโนแจ๊สในยุคปัจจุบัน) ในงานแกรมมี่ว่าเธอจะทำอัลบัมแจ๊ส เราก็วาดภาพเรียบร้อยแล้วว่าเป็นเมนสตรีมแจ๊ส อย่างน้อยก็อาจจะเป็นโมเดิร์นแจ๊สที่มีจังหวะเก๋ๆ แต่ก็ผิดถนัด เราฟังตั้งแต่แผ่นหนึ่ง แผ่นสอง จนจบ ยังหาความเป็นแจ๊ส หรือทำเพลงแนวคลาสสิก (บลูส์ แร็กไทม์ โซล ฯลฯ) ไม่ได้เลย แต่ก็ไม่รู้สึกผิดหวังที่ผิดคาดแต่ก็ประหลาดใจ (ไม่เข้าใจว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวว่าเธอจะทำแจ๊ส)

คริสตินาไม่ได้ทำเพลงแจ๊สหรือเพลงบลูส์ ลองอ่านตามที่เขาวิจารณ์อัลบัมนี้ดีดีเพราะมันเขียนว่าอัลบัมนี้ได้รับแรงบันดาลจากเพลงแนวคลาสสิกอย่างบลูส์และแจ๊ส อันนี้เราเห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ใช่อัลบัมนี้เป็นแนวเพลงแจ๊สหรือบลูส์ มีบางเพลงที่เอามาทั้งดุ้น แต่สไตล์การร้องไม่ใช่ ดนตรีอัลบัมนี้ทำดีมากทีเดียว แต่มีสองอย่างที่ไม่ชอบก็คือ หนึ่ง เสียงเครื่องทองเหลือง (brass) ไม่ไลฟ์พอ และก็ใช้บทบาทผิดๆ คือทรีตเหมือนกับเป็นทำนอง (rhythm) มากกว่าเป็นเครื่องดนตรีประกอบ (accompaniment) สอง เสียงฝุ่นบนแผ่นเสียง นอกจากไม่สมจริงแล้ว ยังทำให้เพลงเสียอีก เพลงต่อให้เก่าแค่ไหน ปัจจุบันเขามีเทคโนโลยีเอาเสียงพวกนี้ออกกันหมดแล้ว

ที่ติไปเป็นจุดที่ใช้เวลาจับผิดนานทีเดียว จุดที่ชมมีเยอะเหมือนกัน เรื่องเสียงนี่ไม่ต้องพูดถึง เจ๋งอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับดนตรีเจ๋งๆ อีก สไตล์การร้องมีทั้งแบบอัลบัมเก่า และบางเพลงก็พยายามปรับให้เข้ากับดนตรีในแปลกๆ เรามีความรู้สึกว่าเพลงมีความเป็น 90 มากๆ แต่ก็บางทีก็รู้สึกว่ามีความเป็นฮิปฮอปผสมเยอะไปหน่อย เพลงที่ทำเป็นบลูส์สไตล์เบสซี สมิท ก็ทำออกมาเหมือน แต่ฟังก็จะรู้สึกไม่ได้เลียนแบบ เพราะว่ามีเสียงเอื้อนปรี๊ดๆ (ไม่รู้จะอธิบายยังไง) ของคริสตินาซึ่งเฉพาะตัวพอได้ยินบ้าง

เว็บไซต์ : www.christinaaguilera.com

[+/-] Read More...

13 สิงหาคม 2549

Lang Lang - Memory


[Track 7 Piano Sonata No.3 in B minor, Op.58 - 4. Finale. Presto non tanto]


ศิลปิน : หลังหลั่ง (Lang Lang - 郎朗)
อัลบัม : Memory
วางแผง : มีนาคม 2006

เมื่อวานมีเพื่อนที่อยู่ที่อังกฤษถามว่าไปดู พร็อมส์ (เทศกาลเพลงคลาสสิกของอังกฤษ ที่เราอยากไปดูมาก แต่ไม่มีโอกาส) ไปดูอะไรดี เราก็ตอบไม่ถูก ไม่ใช่ว่าเราคิดไม่ออกนะ แต่ไม่รู้จะเลือกไปดูอันไหนดี เราก็แนะนำให้ไปดูคนดังๆ และเน้นปริมาณ ถ้ามีเวลาก็ซื้อตั๋วยืน (ตั๋วถูก) แล้วก็ไปดูเยอะๆ และก็ไปดูพวกคอนแชร์โต เพราะงานพร็อมส์มักจะมีศิลปินระดับท็อปเสมอ ถ้าถามเราว่าอยากดูเพอร์ฟอร์มานส์ของใคร เราก็คิดว่าอยากดู หลังหลั่ง มากที่สุด

ถ้าเป็นคนทั่วไปได้เห็นแล้วคงหมั่นไส้ว่านักเปียโนคนนี้แสดงอารมณ์เว่อร์ (อยากรู้ว่าเว่อร์ยังไงลองเข้าไปหาใน ยูทิวบ์ ดู) หลังหลั่งนี่เป็นศิลปินที่อยู่ในระดับท็อปสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ๆ และก็มีการตีความบทประพันธ์ออกมาหลากหลาย ที่เราว่าเก่งก็เพราะเขา "แสดง" ท่าทางเว่อร์ๆ ออกมาได้ ทั้งๆ ที่ต้องโฟกัสกับบทเพลง อัลบัมก่อนๆ ก็จะเป็นเพลงในเร็พเพอร์ทัวร์ เน้นเพลงยากๆ โชว์ฝีไม้ลายมือ (นึกถึงราคที่ รีวิว มาแล้ว ไม่ก็โชแป็งหรือลิสต์เพลงยากๆ) อัลบัมปัจจุบัน Memory เราได้ยินชื่ออัลบัมครั้งแรก ก็นึกว่า หลังหลั่งกลายเป็นศิลปินคลาสสิกแบบครอสโอเวอร์ไปแล้ว (ครอสโอเวอร์ สำหรับเพลงคลาสสิกหมายถึงเอาเพลงอื่นที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิกมาเล่นแบบคลาสสิก ที่เด่นๆ ก็เช่น โยโย่มา (หม่า โหยวโหย่ว)) แต่จริงๆ แล้วหมายถึงเพลงในความทรงจำในวัยเด็กต่อเพลงที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในวันนี้ต่างหาก ฟังดูเว่อร์อีกแล้ว แต่ก็ทำให้เข้าใจเขาได้ดีขึ้น

ดูชื่อแทร็กแรกๆ แล้วจะงงว่ามีทั้งโมสาร์ท โชแป็ง ชูมันน์ และลิสต์ในแผ่นเดียวกัน แต่ละเพลงก็เป็นคนละอารมณ์ แต่ถ้าฟังอัลบัมนี้แทบไม่เชื่อเลยว่าเพลงมันคล้อยตามกันมาอย่างดี เหมือนหลังหลั่งจูนอารมณ์ของเพลงให้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน เปียโนโซนาต้าหมายเลขสามของโชแป็งก็เป็นเวอร์ชันที่นุ่มนวล อ่อนช้อย มากกว่าที่จะขึงขัง (เพลงนี้เป็นเพลงที่มีคนตีความหลากหลายมาก) แต่ถ้าไปอ่านรีวิวในแอมะซอนก็มีคนติเยอะเหมือนกัน (คนหมั่นไส้เขาเยอะ) แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราชอบเวอร์ชันนี้พอๆ กับของอาร์เจอริชนะ ส่วนโซนาต้าของโมสาร์ทก็ออกมาโรแมนติกไปหน่อยนึง สำหรับเพลงที่ไม่ต้องเน้นเทคนิคอย่างเพลงนี้ แต่เราก็ชอบนะ (ปรกติไม่ค่อยฟังเพลงยุคคลาสสิกเท่าไหร่)

แต่ไฮไลต์ของอัลบัมนี้อยู่ที่ Kinderszenen แปลเป็นไทยว่า ความทรงจำ (ฉาก ซีน) ในวัยเด็ก ของชูมันน์ เป็นรวมฮิตเพลงเด็กๆ แบบที่ศิลปินระดับเวอร์ชัวโซไม่มีใครคิดจะเอามาเล่น เพราะมันง่ายเกิน (ไม่ได้ง่ายจนใครๆ ก็เล่นได้นะ แต่ก็ถือว่าง่ายสำหรับเวอร์ชัวโซ) ซึ่งเพลงหนึ่งใน Kinderszenen มีเพลงฮิตคือ Traumerei ซึ่งใครที่เล่นเปียโนต้องเคยผ่านตาหรือไม่ก็เคยเล่นมาบ้างแล้ว

เพลงจบเป็นเพลง encore เอาใจคนฟังที่ถามหาเพลงปราบเซียน ก็เอา Hangarian Rhapsody ของลิสต์ เวอร์ชันปราบเซียนของโฮโรวิตซ์แถมให้หนึ่งเพลง ยิ่งทำให้อัลบัมนี้จับฉ่ายเข้าไปใหญ่ สรุปก็คือ เป็นการรวมฮิตเพลงง่ายเพลงยาก เพลงคลาสสิกเพลงโรแมนติก เข้าไว้ด้วยกันให้คนฟังได้ความรู้สึกแปลกใหม่ มีคอนเซปต์ดีเหมือนกัน

เว็บไซต์ : www.langlang.com

[+/-] Read More...

07 สิงหาคม 2549

Janet Jackson - The Velvet Rope


[Track 18 I Get Lonely]


ศิลปิน : เจเน็ต แจ็กสัน (Janet Jackson)
อัลบัม : The Velvet Rope
วางแผง : ตุลาคม 1997

ช่วงนี้มีความรู้สึกนอสตาลจิกนิดหน่อย เลยไปขุดเพลงเก่าๆ มาฟัง ดันโชคร้ายที่ลืมเอาซีดีเอ็มพีสามรวมเพลงที่แปลงจากซีดีที่ซื้อสมัยมัธยมมาด้วย เลยเหลือให้ฟังอยู่ไม่กี่อัลบัม วันก่อนเพิ่งได้ดูมิวสิกวิดีโอใหม่ของเจเน็ตก็เลยคิดถึงอัลบัมเก่าๆ โดยเฉพาะอัลบัมแรกของเจเน็ตที่ซื้อซีดีก็คือ The Velvet Rope จำได้ว่ามันนานมากเกือบสิบปีแล้ว เพลงของเจเน็ตถือว่าล้ำสมัยมากเมื่อเทีียบกับศิลปินในสมัยนั้น และอัลบัมส่วนใหญ่ไม่เคยทำออกมาเอาใจตลาดเลย ครั้งแรกที่ฟังอัลบัมนี้ก็รู้สึกผิดหวังที่ซื้อมาเหมือนกัน เพราะไม่คิดว่ามันจะน่าเบื่ออย่างนี้ ฟังที่ไรก็รู้สึกว่าดนตรีมันสังเคราะห์เกิน และมันไม่ใช่แนวเพลงที่สมัยนั้นชอบฟัง (ลองคิดถึงยุคกลางๆ ปลายๆ 90 ดู ช่วงที่เพลงบัลลาดกับอาร์แอนด์บีหนืดๆ ครองตลาด)

อัลบัมรวมฮิตก็มีเหมือนกัน (Design of a Decade: 1986/1996) แต่เป็นคาสเซตเลยไม่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่เพลงที่หักมุมจากยุคนั้นมาเป็นยุค The Velvet Rope ก็คือ Got Til It's Gone เพลงนี้ชอบมากๆ จำได้ว่ามิวสิกวิดีโอสวย ฟังแล้วก็จะคุ้นๆ กับท่อนฮุกที่เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าไปแซมเปิลเพลง The Big Yellow Taxi ของ Joni Mitchell (สมัยนั้น ใครวะ ไม่รู้จักศิลปินระดับตำนานเท่าไหร่ เพิ่งมาเคยฟังเพลงนี้ตอนที่ Counting Crows มาคัฟเวอร์ร้องคู่กับแวเนสซา คาร์ลตันหรือไงเนี่ยแหละ) ส่วนอีกเพลงที่ตอนนั้นฮิตสุดๆ ก็คือ Together Again จำได้ว่ามีซิงเกิลเพลงนี้ด้วย แล้วก็ Go Deep ที่เพลงเป็นสไตล์โอลด์สกูลแบบยุค 80 (แต่ดนตรีเป็นแบบ 90) I Get Lonely ก็เป็นอาร์แอนด์บีที่เจ๋งมากเพลงหนึ่ง และก็เพลง Everytime ที่มิวสิกวิดีโอเป็นเจเน็ตหุ่นแมนๆ โป๊ในน้ำ (แต่สวยนะ ดูอาร์ตมากๆ)

ความรู้สึกตอนนี้ต่างจากแต่ก่อนมาก เพิ่งมารู้สึกว่าเพลงอื่นๆ ในอัลบัมน่าสนใจเหมือนกัน พูดถึงเนื้อหาแล้วเจเน็ตชนะขาด ชอบนักเรื่องเพศ เนื้อหามักจะเอ๊กสปลีซิตเสมอ (แต่สู้เพลง Would You Mind ในอัลบัม All For You ไม่ได้) แต่ยังไงก็ตามเพลงของเจเน็ตไม่ใช่อะไรที่ฟังง่ายและไม่ค่อยตามตลาด (ทำให้สมัยก่อน ไม่ค่อยชื่นชอบอัลบัมนี้เท่าไหร่) แต่จะให้บอกว่าอัลบัมนี้เยี่ยมก็คงพูดยาก ความรู้สึกเราที่ฟังเพลงเจเน็ตก็คือ ฟังแล้วไม่ค่อยมีความสุขหรือสุนทรีย์ (ซึ่งเป็นความรู้สึกที่พึงได้รับจากการฟังเพลง) ไม่รู้ว่าคนอื่นเห็นด้วยหรือเปล่านะ

เว็บไซต์ : www.janetjackson.com

[+/-] Read More...

27 กรกฎาคม 2549

Gotan Project - Lunático


[Track 6 Mi Confesión]


ศิลปิน : Gotan Project
อัลบัม : Lunático
วางแผง : เมษายน 2006

อัลบัมนี้ไม่เขียนไม่ได้ ช่วงนี้เจอโฆษณาโปรโมตทางทีวีที่นอรเวย์บ่อยมากๆ Gotan Project เป็นกลุ่มศิลปินผสมระหว่างฝรั่งเศสกับอาร์เจนตินา ทำดนตรีในแนวสมัยใหม่โดยผสมผสานเพลงอิเล็กโทรนิกส์เข้ากับเพลงสำหรับเต้นแทงโก้ (ชื่อวงมาจากการเล่นคำ Tango เป็น Gotan) ซึ่งเป็นเพลงจังหวะละติน กับเพลงพื้นเมืองของละตินอเมริกา วงนี้ถือว่าเป็นวงที่ดังในยุโรปมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเพลงเฮาส์

เราเคยฟังเพลง Gotan Project ก่อนที่จะออกอัลบัมนี้ทางเอ็มทีวีบ้าง วิทยุบ้าง เคยชอบอยู่เพลงนึงก็คือ 'Round About Midnight ของเดิมแต่งโดยทีโลเนียส มังก์ (Thelonious Monk) และเป็นเพลงแจ๊สที่ดังมาก รู้สึกว่าเพราะดี เหมือนฟัง Verve Remixed แต่อัลบัมนี้ เขาบอกว่าลดดนตรีสังเคราะห์ลง (แต่ก็มีบ้าง อย่างทำเสียงแก้ว เสียงพืมพำ เสียงแผ่นเสียงตกร่อง) เล่นดนตรีในสตูดิโอมากขึ้น เสียงเครื่องดนตรีในอัลบัมนี้ปิ๊งมากๆ เสียงเปียโนที่อิมโพรไวซ์ เสียงบันโดเนียน (แอ็กคอร์เดียนของสเปน) เป็นเสียงที่ได้ยินเกือบทุกเพลง ถ้าใครชอบเพลงร้อง เสียงร้องในเพลงนี้ก็สุดยอดทั้งเสียงผู้หญิง (สไตล์คล้ายการร้องเพลง bossa nova แต่รุนแรงกว่า) บางเพลงก็เป็นเสียงพูด มีเพลงนึงเป็นแร็พ (รู้สึกว่าจะเรียกว่าทริปฮ็อป คือร้องแร็พในเพลงเฮาส์ ไม่ชัวร์เหมือนกันว่าใช่หรือเปล่า ใครรู้ช่วยบอกด้วย) ใครชอบฟังเสียงร้องแบบ ethnic คงชอบ และการเล่นดนตรีแบบพร้อมใจกันอิมโพรไวซ์เป็นอะไรที่เราชอบมากๆ มีอยู่อย่างนึงที่ไม่ค่อยจะพื้นบ้านก็คือเครื่องให้จังหวะ (percussion) ฟังแล้วจะรู้สึกคล้ายๆ กับเพลงเฮาส์ยุโรป

ใครชอบฟังอัลบัมของ Pink Martini ก็น่าจะชอบ Gotan Project แต่ความรู้สึกต่างกันตรงที่ว่า Gotan Project คือเพลงที่ทำโดยคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมโดยตรง​ (มีทั้งคนอาร์เจนดินาต้นตำหรับเพลงละตินกับฝรั่งเศสต้นตำหรับเพลงเฮาส์แบบยุโรป) เพลงในอัลบัมนี้มีหลายอารมณ์มาก ฟังกี่รอบก็ไม่เบื่อ ยิ่งฟังยิ่งชอบ เราว่าไม่ใช่เป็นอัลบัมเฉพาะกลุ่มเลย ใครๆ ก็ฟังได้ เราว่าอีกหน่อยถ้าโปรโมตมากๆ อัลบัมนี้ก็จะกลายเป็นอัลบัมโหล ประมาณว่าใครอยากอินเทรนด์ต้องฟังอัลบัมนี้แน่ๆ (พวกตามกระแส) เราชิงมาชื่นชมก่อนที่อัลบัมนี้จะโหล จนใครๆ ก็ออกมาชม (ตามกระแส) อีก

เว็บไซต์: www.gotanproject.com

[+/-] Read More...

21 กรกฎาคม 2549

Mikhail Pletnev - Prokofiev 3 Rachmaninoff 3


[Track 4 Prokofiev: Piano Concerto No.3 in C major Op.26: 1. Andante - Allegro]


ศิลปิน : มิคาอิล เพลตเนฟ (Mikhail Pletnev) เปียโน, มสติสลาฟ โรสโตรโปวิช (Mstislav Rostropovich) กำกับ Russian National Orchestra
อัลบัม : Prokofiev 3 Rachmaninoff 3
วางแผง : มีนาคม 2003

รัสเซียนี่ก็เป็นประเทศในฝันเราประเทศหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเรารู้สึกว่าประเทศนี้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการปกครองตั้งแต่แบบจักรวรรดิ คอมมิวนิสต์ภายใต้การน้ำของกลุ่มโบลเชวิก และก็กลายเป็นสาธารณรัฐ ประเทศนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่ศิลปวัฒนธรรมกลับเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง จนเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ในยุโรป (จากที่เมื่อก่อนต้องตามอย่างเขา) โดยเฉพาะด้านดนตรี ถ้าหากถามเราว่าชอบเพลงที่แต่งโดยนักประพันธ์รัสเซียคนไหนบ้าง ชื่อแรกๆ ก็คงมี ไชคอฟสกี ราคมานินอฟ แต่ถ้าไล่ไปเรื่อยๆ ก็คงมี ริมสกี-คอร์ซาคอฟ รูเบนสไตน์ สคริอาบิน ชอสตาโกวิช โปรโคเฟียฟ สตราวินสกี

แต่ถ้าพูดถึงราคมานินอฟ ทุกคนก็คงคิดถึงเปียโน คอนแชร์โต ที่เขาจะตั้งชื่อเล่นๆ ว่า ราค 2 ราค 3 ตามเบอร์ของเพลง (เบอร์ 2 กับ 3 ดังที่สุด จากทั้งหมดสี่เบอร์) ราค 2 นี่คนที่ฟังเพลงป๊อปอาจจะคุ้นเคย เพราะว่ามีคนเอาเพลงนี้มาทำเป็นเพลงป๊อปยุคโบราณที่เซลีน ดิออนเอามาร้องใหม่คือเพลง All By Myself ส่วน ราค 3 นั้นเขาบอกว่ายากที่สุด เป็นเพลงที่มีซีดีขายเยอะพอสมควรเพราะความยากของมัน

ปรกติแล้วนักเปียโนมักจะเล่นราค 2 และ 3 ออกมาขาย แต่ของมิคาอิล เพลตเนฟออกราค 3 มาคู่กับ เปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 3 ของโปรโคเฟียฟ จะบอกว่าเป็นเปียโนคอนแชร์โตอันที่เราชอบมาก เป็นเพลงที่ลูกเล่นแพรวพราวมากๆ เมื่อก่อนเราไม่ชอบโปรโคเฟียฟเลย (ช่วงที่บ้าฟังเพลงโรแมนติกไม่ลืมหูลืมตา) แต่หลังๆ มาเรากลับตามงานของเขา ก็มาค้นพบว่า สวีอะโตสลาฟ ริคเตร์ (Sviatoslav Richter) เล่นผลงานของโปรโคเฟียฟมากมาย (และมักจะเป็นคนเปิดซิง หรือเล่นพรีเมียร์ เวลาโปรโคเฟียฟแต่งเสร็จด้วย) สงสัยต้องไปหามาฟังเสียแล้ว

ส่วนใครมาถามว่าราคเวอร์ชันของเพลตเนฟเป็นยังไง เราก็คงตอบแบบตาสีตาสาว่าเล่นดี อย่างราคสามนี่ถ้าอยากได้เวอร์ชันหวือหวาดราม่าเราไม่แนะนำเวอร์ชันนี้ ให้ไปหาของเจ๊มาร์ทา อาร์เกอริช หรือ หลังหลั่ง (Lang Lang เราเองยังไม่ค่อยคุ้นกับชื่อจีนชื่อนี้เท่าไหร่ ฟังดูทะแม่งๆ เนอะ) เราเองรู้สึกว่าเสียงเปียโนเวอร์ชันเพลตเนฟมันค่อยยังไงไม่รู้ ไม่ค่อยเด่นเลย (สงสัยช่วงนี้ฟังเจ๊อาร์เกอริชมากเกินจริงๆ) ส่วนเปียโนคอนแชร์โตของโปรโคเฟียฟนี่เราเอ็กซโพสน้อย แต่เราเคยฟังเวอร์ชันในวิทยุ (ใครเล่นจำไม่ได้) รู้สึกว่าเวอร์ชันของเพลตเนฟนี่มันต่อลื่นไหลกว่า ซึ่งก็คงเป็นจุดเด่นเพราะเพลงนี้มันเปลี่ยนอารมณ์ฉุบฉับมาก

เว็บไซต์ : Russian National Orchestra, มิคาอิล เพลตเนฟ

[+/-] Read More...

13 กรกฎาคม 2549

Thom Yorke - The Eraser


[Track 3 The Clock]


ศิลปิน : ทอม ยอร์ก (Thom Yorke)
อัลบัม : The Eraser
วางแผง : กรกฎาคม 2006

เพิ่งฟังอัลบัมเดี่ยวอัลบัมแรกของทอม ยอร์ก จากวง Radiohead ที่เพิ่งวางแผงไปสองสามวันก่อนทางอินเตอร์เนตแล้วอยากซื้อมาก แต่เห็นราคาซีดีที่นอรเวย์แล้วซื้อไม่ลง เพราะแผ่นละตั้งเกือบพันบาท (149 โครน) เห็นแล้วคิดถึงราคาซีดีเมืองไทยมาก ครั้นจะซื้อจาก iTunes Music Store (496 บาท หรือ 80 โครน) ก็ไม่อยากซื้อ เพราะว่าก็ไม่ต่างอะไรกับโหลดของเถื่อนทางอินเตอร์เนต ที่อยากซื้อเพราะอยากได้ซีดีพร้อมเคสและบุ๊กเลต ถ้าจะจ่ายเกือบพัน สู้ซื้อเวอร์ชันที่เป็น SACD หรือไม่ก็ DualDisc ที่อเมริกาดีกว่า (ที่ชอบไม่ได้เพราะคุณภาพ แต่เพราะรูปลักษณ์ที่ดูงามดี)

เราพูดยังกับเป็นแฟนเพลงเรดิโอเฮด มาก่อน เปล่าเลย เราไม่เคยซื้อหรือฟังอัลบัมเต็มของเรดิโอเฮดเลย แต่เราก็ชอบเพลงหลายเพลงเหมือนกัน เพราะว่าเอ็มทีวีและรายการดนตรีอื่นๆ กระหน่ำเปิดเหลือเกิน จริงๆ แล้วเราอยากฟังอัลบัม OK Computer ที่เขาชื่นชมนักหนาว่าดีมาก (ได้แกรมมี่ด้วย) เราเองไม่ได้สนใจมากมายเพราะยังคิดว่าเรดิโอเฮดเป็นวงดนตรีร็อกสไตล์ที่เราไม่ชอบฟัง แต่จริงๆ แล้วเราก็ชอบฟัง เพราะว่าเสียงคนร้องที่ชื่อ ทอม ยอร์ก เนี่ยแหละ

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ชอบดูมิวสิกวิดีโอเพลง Street Spirit มากๆ เพราะว่า หนึ่ง มันอาร์ตมาก สอง มันเป็นโมโนโครม (ขาวดำ) สาม นักร้องนำเสียงน่าสนใจมาก (ฟัลเซตโตสูงมากๆ) และก็มีเพลงดังๆ อย่าง High and Dry จำได้ว่าอยู่ในอัลบัมรวมฮิตอะไรสักอย่างที่ซื้อตอนนั้น หลังจากนั้นก็ได้ดูเพลงของเรดิโอเฮดมาเรื่อยๆ เพราะทำมิวสิกวิดีโอแปลกๆ มาให้ดูเต็มไปหมด จนไปถึงเพลงที่ดังกระฉูดอย่าง No Surprises ที่มีหน้าของนักร้องนำอยู่ในตู้กระจก แล้วก็มีน้ำท่วมเข้ามา ดูแล้วชวนหายใจไม่ออกแทน (แต่เพลงนี้ดังมากๆๆๆ แบบว่าเปิดวิทยุ โทรทัศน์ก็ได้ยินแต่เพลงนี้) ส่วนอีกเพลงนึกชื่อไม่ออกที่มิวสิกเข้าป่าไปเจอครอบครัวสัตว์ในโพรงไม้ที่ทำกราฟิกเลียนแบบหนังสมัยโบราณ ดูแล้วน่ารักดี

ส่วนอัลบัมนี้มีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเพลงแนวอิเล็กโทรนิกส์ คือใช้เสียงสังเคราะห์เต็มที่ (ก็ไม่มีวงเล่นดนตรีแบ๊กให้แล้วนี่) แต่จุดเด่นก็ยังอยู่ที่เสียงร้องของทอม ยอร์กเหมือนเดิม ส่วนรูปแบบการร้องก็ยังเป็นเรดิเฮดไม่เปลี่ยน ต่อให้ดนตรีเล่นดิซโซแนนซ์แค่ไหน ก็ฟังแล้วไม่ปวดหู เพราะดนตรีค่อนข้างเบา ตอนหลังๆ เห็นเพื่อนๆ นิยมฟังเพลงอิเล็กโทรนิกส์มายิ่งขึ้น (คนนึง ก็อูทาตะ อีกคน ก็เบยิร์ก) ก็เลยมาฟังเป็นเทรนด์ พอยิ่งฟังอัลบัมนี้ก็ยิ่งชอบ สงสัยต้องไปหาอัลบัมเก่าๆ ของเรดิโอเฮดมาฟังซะแล้ว

เว็บไซต์ : www.radiohead.com

[+/-] Read More...