29 พฤษภาคม 2549

The Glenn Gould Edition - Bach: The Well-Tempered Clavier, Books I and II

Glenn

[Track 8 Fugue No.4 in C-sharp minor BMV 849]


ศิลปิน : เกล็นน์ โกลด์ (Glenn Gould)
อัลบั้ม : The Glenn Gould Edition - Bach: The Well-Tempered Clavier, Books I and II
วางแผง : มกราคม 1994

ผลงานคีย์บอร์ดของ โยฮันส์ เซบาสเตียน บ๊าก (Johann Sebastian Bach) ที่เป็นที่รู้จักส่วนใหญ่จะเป็นเพลงฝึก และจะมีการเขียนเป็นแพตเทิร์นคือ ในงานหนึ่งชุด จะมีเพลงไล่ไปทุกบันไดเสียง ชุดที่มีแต่บันไดเสียงหลักบนคีย์เมเจอร์และไมเนอร์ก็คือ Inventions and Sinfonias หรือที่เรียกอีกชื่อคือ Two-part Inventions และ Three-part Inventions อันนี้ความยากระดับง่ายถึงปานกลาง เป็นเพลงสอบเปียโน (เขาว่าง่าย เรายังเล่นไม่ค่อยจะได้เลย) ส่วนชุดที่สุดยอดจริงๆ ก็คือ Well-Tempered Clavier ซึ่งมีสองชุดเรียกเป็น Book I กับ Book II

สองชุดนี้ถือว่าสุดยอดผลงานของบ๊ากในแง่การแต่งเพลงสำหรับคีย์บอร์ด บ๊ากนี่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อ Counterpoint ซึ่งก็คือลักษณะการแต่งเพลงให้มีไลน์ของเพลงซ้อนกันมากกว่า 2 ไลน์เล่นซ้อนกัน การแต่งลักษณะนี้ฮิตมาตั้งแต่สมัยยุคเรอแนสซองส์ แต่บ๊ากเป็นคนที่พัฒนาเทคนิคนี้ให้แพรวพราวมากที่สุด อย่างเพลงที่ยกตัวอย่างผลงานการแต่งเพลงสำหรับคีย์บอร์ดของบ๊าก ก็คือ Inventions หรือเขาให้ชื่อใหม่ว่า Two-part Inventions ก็จะมีเพลงสองไลน์ที่เล่นซ้อนกัน (อันนี้ง่ายหน่อย ขวาไลน์หนึ่ง ซ้ายอีกไลน์หนึ่ง) ส่วนเพลง Sinfonias หรือที่เขาตั้งชื่อใหม่ไม่ให้สับสนว่า Three-part Inventions มีสามไลน์ โดยที่ไลน์ที่สามจะงอกมาให้มือซ้ายไม่ก็มือขวาเล่น แต่ส่วนใหญ่จะงอกมาอยู่ตรงกลางให้สองมือช่วยกันเล่น (ประมาณว่านิ้วไหนของมือไหนว่าง ก็ไปเล่นในไลน์ที่สาม อันนี้ยากขึ้นมา เราเคยลองเล่นเพลงที่ง่ายที่สุดยังไม่มีปัญญาเลย)

ส่วนระดับสุดยอดของเพลงประเภท contrapuntal (คำคุณศัพท์ของคำว่า counterpoint) ที่บ๊ากโปรดปรานในการแต่งมากๆ ก็คือ เพลงจำพวกฟิวก์ (fugue) เป็นเพลงที่มีความซับซ้อนในการแต่งอย่างสูง คือนอกจากจะมีเมโลดีสามถึงสี่ไลน์ (บางเพลงห้า) แต่ละไลน์ก็จะมีข้อบังคับในการแต่งคือ จะมีเนื้อหาหลัก (subject) ที่มักจะเล่นซ้ำๆ กันในหลายอ็อกเทฟและบางทีเปลี่ยนคีย์ (ส่วนใหญ่ไปดอมิแนนท์ไม่ก็ไมเนอร์ในท่อนพัฒนา) บางที่ก็มีท่อน countersubject ที่ดัดแปลงจากเนื้อหาหลัก และยังมีรายละเอียดอีกเยอะจนสามารถวิเคราะห์เพลงบ๊ากเขียนทฤษฎีได้เป็นเล่มทีเดียว บางเพลงก็แทรกความหมายทางคริสตศาสนา (แนะนำให้เขาไปดูเขาวิเคราะห์ ฟิวก์ หมายเลข 4 ในบันไดเสียง C# minor ใน Well-Tempered Clavier Book I สุดยอดแบบ Da Vinci Code ยังอายเลย)

มาพูดถึงเกล็นน์ โกลด์บ้าง คนนี้ถือเป็นนักเปียโนที่คลั่งไคล้บ๊ากแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะชอบเล่นแต่เพลงบ๊าก และเที่ยวด่าเพลงของศิลปินยุคโรแมนติก และก็ยังวิจารณ์ว่าเพลงโมสาร์ทง่ายเกินไปอีก ผลงาน The Well-Tempered Clavier ของเขาสร้างชื่อมากพอๆ กับ Goldberg Variations (มีอารีอากับ variation อีกสามสิบบทของบ๊ากที่มีความซับซ้อนมากๆ มีเทคนิคทฤษฎีแพรวพราวไม่แพ้กัน) ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงงานคีย์บอร์ดของบ๊ากก็มักจะอ้างอิงการเล่นของเกลนน์ โกลด์เสมอ แต่ถ้าถามเราว่าของใครดีที่สุด เราตอบไม่ได้ เพราะเราไม่เคยฟังของคนอื่นเลย เพราะว่าแผ่นหายากเหลือเกิน และก็แพงด้วย

อย่างที่เราบอกว่า Well-Tempered Clavier มีสองชุด คือ Book I กับ Book II แต่ละชุดมีเพลงทั้งหมด 48 แทร็ก (เพลงจะขึ้นต้นด้วย พรีลูด แล้วตามด้วย ฟิวก์ ไล่ไปตั้งแต่บันไดเสียง C major C minor C# major C# minor D major D minor เรื่อยไปจนครบทุกบันไดเสียงโครมาติก) ทั้งสองชุดรวมเป็น 96 แทร็ก ซีดีทั้งหมด สี่แผ่น! ฟังให้ตายกันไปข้างเลย

เว็บไซต์ : www.glenngould.com, วิเคราะห์ฟิวก์ใน Well-Tempered Clavier

ความคิดเห็น:

pradt กล่าวว่า...
1/6/49 13:34
 

โอว อ่านแล้วได้ความรู้เรื่องการเล่น piano มากครับ